การเติบโตแบบคู่ขนาน Dual Circulation ของเทศบาลนครเชียงใหม่และเทศบาลเมืองแม่โจ้

                    การเติบโตแบบคู่ขนาน (Dual Circulation) ของเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้และเทศบาลนครเชียงใหม่ในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา และการจ้างงานมีลักษณะเฉพาะที่สะท้อนถึงการพัฒนาที่สอดคล้องกันและส่งเสริมกัน และส่งผลให้เทศบาลเมืองแม่โจ้ เปลี่ยนบทบาทจากเมืองที่มีความสำคัญด้านการเกษตรกรรม เป็น เมืองแห่งการศึกษาด้านเกษตร อาหาร สุขภาพ และเมืองน่าอยู่ใกล้เขตเมืองเชียงใหม่ ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลเมืองแม่โจ้ กำหนดวิสัยทัศน์ที่ “มุ่งมั่น พัฒนาเมืองแม่โจ้ให้เป็นเมืองต้นแบบ” โดยมีพันธกิจหลักเพื่อ 1) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของคน ครอบครัวและชุมชนในการพึ่งตนเอง 2) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่ดีและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 3) การกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลและมลภาวะสิ่งแวดล้อม และ 4) การพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่มีความเข้มแข็ง โดยได้รับบริการสาธารณะโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อรองรับการขยายตัวและเศรษฐกิจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาด้าน 1) ประชาชนมีศักยภาพ มีความรู้มีรายได้เพียงพอสามารถพึงตนเองได้ 2) การบริหารจัดการภาครัฐที่ดีแบบบูรณาการและมีส่วนร่วมมลภาวะและสิ่งแวดล้อมไม่เป็น 3) มลพิษให้บ้านเรือนและชุมชนน่าอยู่อย่างสงบสุข และ 4) การได้รับบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสะดวกและเสมอภาค  

                    ความสอดคล้องของนโยบายระหว่างเทศบาลนครเชียงใหม่และเทศบาลเมืองแม่โจ้นั้นสามารถพิจารณาได้จากหลายมิติ ซึ่งรวมถึงนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การศึกษา การท่องเที่ยว การเกษตร และสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น ดังนี้ 

1) ด้านเศรษฐกิจ: เทศบาลเมืองแม่โจ้มีนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการพัฒนาภูมิทัศน์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน เทศบาลนครเชียงใหม่ก็มีแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน โดยเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

2) ด้านคุณภาพชีวิต: เทศบาลเมืองแม่โจ้ เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านโครงการสังคมสงเคราะห์และการสนับสนุนกลุ่มที่ด้อยโอกาส เช่น เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ สอดรับการการงเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีและได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง รวมถึงการสร้างความมั่นคงในชีวิตของเทศบาลนครเชียงใหม่ นอกจากนี้ ทั้งสองเทศบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเทศบาลเมืองแม่โจ้ใช้แนวคิด “เทศบาลเป็นของทุกคน” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น เทศบาลนครเชียงใหม่ก็มีแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน 

3) ด้านการศึกษา: เทศบาลนครเชียงใหม่ มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและมีคุณธรรมจริยธรรม ขณะที่เทศบาลเมืองแม่โจ้ มุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเน้นการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย และเป็นเทศบาลที่มีการศึกษาครบทุกระดับชั้นตั้งแต่ ระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และการศึกษาพิเศษ 

4) ด้านการท่องเที่ยว: เทศบาลนครเชียงใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นเมืองที่น่าอยู่และน่าท่องเที่ยวในระดับเอเชีย ขณะที่เทศบาลเมืองแม่โจ้ เน้นการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น เช่น การไหว้พระเก้าวัด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน 

5) ด้านเกษตรกรรม: เทศบาลนครเชียงใหม่ สนับสนุนเกษตรครบวงจรเพื่อบริโภคและส่งออก ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ สอดคล้องกับเทศบาลเมืองแม่โจ้ที่ส่งเสริมกิจกรรมเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเกษตรกรรม

                    โครงสร้างพีระมิดประชากรของเทศบาลเมืองแม่โจ้ (แยกตามจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย) ข้อมูลปีพ.ศ.2566 จำนวน 21,888 คน พบว่าพีระมิดประชากรมีลักษณะหดตัว (constrictive pyramid or declining pyramid) ฐานพีระมิดแคบ ตรงกลางพองออกและยอดค่อยๆ แคบเข้าคล้ายรูปดอกบัวตูม ซึ่งแสดงถึงรูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำ ส่วนประชากรช่วงวัย 20-24 ปี มีจำนวนประชากรมาก เพราะช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงวัยของนักศึกษาที่ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งย้ายทะเบียนราษฎร์เข้ามายังมหาวิทยาลัยในชั้นปีที่ 1 ซึ่งในบางกรณีมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ย้ายทะเบียนราษฎร์ออกหลังจากสำเร็จการศึกษา ส่วนช่วงวัยที่สัดส่วนน้อยที่สุดในประชากรพบในช่วงอายุ 75-79 ปี ช่วงวัย 0-14 ปี และอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ สำหรับ สัดส่วนอัตราผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนร้อยละ 21.78 จากประชากรทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาตามเกณฑ์สังคมผู้สูงอายุขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่หากมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเกิน 10% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 7% ของประชากรทั้งหมด ถือว่าพื้นที่นั้นเป็นสู่สังคมผู้วัย (Aging Society) ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าปัจจุบัน เทศบาลเมืองแม่โจ้เป็น สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กและดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดทางเศรษฐกิจและสังคม หรือเกิดปรากฏการณ์ขาดแคลนวัยแรงงานในอนาคตซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ และยังส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีการปรับนโยบายเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การพัฒนาระบบสาธารณสุข การจัดหาบริการดูแล และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้ต่อไป

                    จากการวิเคราะห์จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยมีอัตราการเพิ่มคงที่ ส่งผลให้จำนวนประชากรเพิ่มแบบทันทีทันใด และจะถูกรวมเข้าไปกับประชากรเดิมกลายเป็นฐานใหม่ สำหรับการเพิ่มประชากรต่อไปเรื่อยๆ ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเร็วกว่าแบบเรขาคณิต ทั้งนี้ การคาดการณ์จำนวนประชากรเป็นการพิจารณาจำนวนประชากรรวม ไม่ได้มีการจำแนกองค์กอบด้านเพศ อายุ หรือการย้ายถิ่น ผลจากการคาดการณ์จำนวนประชากรของเทศบาลเมืองแม่โจ้ในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567-2586) มีอัตรากรเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 1.25 และจำนวนประชากรที่ได้จากการคาดการณ์ในปี พ.ศ.2586 มีจำนวน 33,444 คน ส่งผลให้ประชากรที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ.2566 เกือบ 1 เท่าตัว (4,768 คน ในปีพ.ศ.2566 เพิ่มขึ้นเป็น 6,770 คน ในปีพ.ศ.2586) อีกทั้งยังเกิดวัยภาระพึ่งพิงซึ่งมีทั้งวัยเด็กและวัยชราเพิ่มขึ้นเป็น 10,569 คน ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 34  ของประชากรทั้งหมดในปีพ.ศ.2586

                    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการคาดการณ์จำนวนประชากรในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้กับเทศบาลนครเชียงใหม่ พบว่าอัตราการเติบโตสวนทางกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยขณะที่จำนวนประชากรในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้มีแนวโนมเพิ่มขึ้น แต่ประชากรในเขตเทศบาลนคนเชียงใหม่มีแนวโน้มลดลง จากปีพ.ศ.2566 ที่มีประชากร 115,299 คน คาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีประชากร 77,053 คน ในปีพ.ศ.2586 ลดลงร้อยละ 2.49 (ภาพที่ 44) ด้วยเหตุผลดังนี้ (1) ประชาชนจำนวนมากเลือกที่จะย้ายไปยังพื้นที่รอบนอก เช่น เทศบาลเมืองแม่โจ้ เนื่องจากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าเชียงใหม่ ซึ่งมีความแออัดและการแข่งขันสูงในด้านการทำงาน (2) เขตเทศบาลนครเชียงใหม่เผชิญกับปัญหาความแออัดและการจราจรที่หนักหน่วง ส่งผลให้ชีวิตประจำวันของประชาชนไม่สะดวกสบาย และหลายคนจึงเลือกที่จะหาที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่ที่มีความสงบและสะดวกสบายมากขึ้น และ (3) เทศบาลเมืองแม่โจ้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่าง ๆ ที่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล และสถานที่ทำงานที่หลากหลาย ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ประชากรในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่จึงมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ประชากรในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง