ที่มาและความสำคัญของโครงการ

แม่โจ้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

Maejo Livable City for Everyone

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่ทำให้เมืองมีข้อมูล ความรู้ กลไก กระบวนการ และความร่วมมือในการบริหารจัดการเมืองให้มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา มีความสามารถทางการแข่งขันบนฐานการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเมืองมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาในระยะยาวที่เสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายและครอบคลุมทุกมิติ โดยมีเป้าหมายพื้นที่ระดับเทศบาลเมืองขึ้นไปที่อยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีฐานทุนเดิมจากการขับเคลื่อนงานวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจที่ระบุไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 6 พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern economic corridor, NEC) เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเชิงวัฒนธรรม และเกษตรมูลค่าสูง ทั้งด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ การพัฒนาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว สินค้า และบริการ รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยรอบเขตเมืองเชียงใหม่เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเมือง โดยหนึ่งในพื้นที่ภายใต้แผนการพัฒนา คือ พื้นที่เทศบาลเมืองแม่โจ้ อำเภอสันทราย ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งการศึกษาเรียนรู้ด้านนวัตกรรมเกษตรอาหาร และสุขภาพ (สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่, 2566) เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองเชียงใหม่ มีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันการศึกษาด้านนวัตกรรมเกษตร อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานราชการที่มีนวัตกรผู้เชี่ยวชาญ (Innovator) และนวัตกรรมสมัยใหม่พร้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกร ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมในเขตรอบเทศบาลเมืองแม่โจ้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยให้กับประชากรในเขตเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีโรงพยาบาลสันทรายเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพให้กับประชากรในเขตชานเมือง

การเติบโตทางด้านการศึกษาและการขยายตัวของเศรษฐกิจในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้ (Urbanization) เกิดขึ้นพร้อมกับการหลั่งไหลเข้ามาของประชากรวัยเรียนและวัยทำงาน ทั้งจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างถิ่นและแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ สถานประกอบการ และสถานบริการ รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานรับจ้างทั่วไปในหลากหลายสาขาอาชีพ เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรวัยแรงงานเข้ามาในพื้นที่เทศบาลเมืองแม่โจ้ คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานท้องถิ่น เนื่องจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบภายในปี พ.ศ.2570

เทศบาลเมืองแม่โจ้ คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและบทบาทของเมืองดังกล่าว ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย จึงได้มีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาเมืองแม่โจ้ ในปี พ.ศ.2564 ไปสู่การเป็น เมืองที่น่าอยู่อาศัย น่าท่องเที่ยว น่าศึกษา และน่าลงทุนเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตของเมือง ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ ลดปัญหาการขยายตัวของเมืองแบบไร้ทิศทาง (Urban sprawl) ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการเข้าถึงบริการสาธารณะ และการบริการขั้นพื้นฐานที่ไม่ทั่วถึง และการขาดแคลนรายได้และที่อยู่อาศัยจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของแรงงานจำนวนมาก การพัฒนา แม่โจ้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนจึงเป็นการสร้างแนวทางและ กรอบแผนรองรับการขยายตัวของเทศบาลเมืองแม่โจ้ ซึ่งดำเนินการประสานความร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายผู้นำชุมชน คณะกรรมการพัฒนา ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานเคหะชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่่) เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการดำเนินงาน เริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาสถานการณ์ปัญหา วิเคราะห์ปัจจัยและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การจัดทำแผน และผังการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคนเพื่อรองรับประชากรวัยศึกษา วัยผู้สูงอายุ และวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการสร้างงานในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้ พร้อมทั้งเสนอแนะเชิงนโยบาย รูปแบบการพัฒนา และการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้มองเห็นภาพการพัฒนาเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้เทศบาลเมืองแม่โจ้เป็นเมืองที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย เพิ่มความสามารถของกลุ่มประชากรในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ สร้างความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปกป้องสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนทุกเพศทุกวัยที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้